อยากเรียนเก่งแต่ขี้เกียจต้องทำยังไง? - 6 วิธีลัดเรียนเก่งให้ได้เกรดดี คะแนนพุ่ง สำหรับเด็กมัธยม
อัปเดตเมื่อ 26 ส.ค. 2565
สวัสดีครับ... ผมมั่นใจว่าหลายๆ คนอยากจะเรียนได้เก่งขึ้น ทำคะแนนสอบให้ได้สูงขึ้น แต่ก็คิดว่าตัวเองคงต้องพยายามมากขึ้น ต้องเหนื่อยมากขึ้นแน่ๆ เลย เฮ้อออ...พอคิดแล้วก็ท้อใจ แต่จริงๆ แล้ว เราไม่จำเป็นต้องทุ่มเทมากเพื่อที่จะเรียนหรือทำคะแนนได้ดีขึ้นหรอกครับ มันมีวิธีที่ทำให้เราเหนื่อยน้อยลง ใช้เวลาเรียนน้อยลง แต่ทำให้เราเรียนได้เก่งขึ้นอยู่ และในบทความนี้ผมจะมาบอกครับว่ามีวิธีการไหนบ้าง...
1. จับประเด็นสำคัญให้ได้
เวลาอยู่ในห้องเรียน เราไม่จำเป็นต้องพยายามทำความเข้าใจทุกอย่างที่คุณครูสอนก็ได้ครับ เพราะเนื้อหาที่ครูสอนมีทั้งเนื้อหาที่เป็นแก่นสำคัญและเนื้อหาที่เป็นส่วนเสริม ประกอบกับสมองของเรามีพลังงานจำกัด ดังนั้นแล้วเราไม่ควรจะใช้พลังงานสมองของเราไปกับเนื้อหาทุกส่วน แล้วประเด็นสำคัญอะไรบ้างที่เราควรเลือกฟัง...?
ไม่ว่าจะตอนฟังที่ครูสอนหรือตอนอ่านหนังสือ เราต้องจับประเด็นเนื้อหาให้ได้ว่า ใคร? ทำอะไร? ดำเนินการด้วยวิธีการไหน? ได้ผลลัพธ์อย่างไร? เมื่อเราสามารถจับประเด็นเหล่านี้ได้แล้ว การทำความเข้าใจรายละเอียดปลีกย่อยหรือเวลาที่เราจะกลับไปทบทวนเนื้อหาด้วยตนเองก็จะง่ายมากยิ่งขึ้นครับ
ผมขอยกตัวอย่างการจับประเด็นสำคัญจากคอร์สสุดยอดเทคนิคเรียนเก่งขั้นเทพ ที่ผมสอนเพื่อให้พวกเราเข้าใจมากยิ่งขึ้นครับ เป็นการจับประเด็นสำคัญของนิทานอิสปเรื่อง "นก สัตว์ป่า และค้างคาว" ครับ

สามารถวิเคราะห์ประเด็นสำคัญได้ดังนี้ครับ

2. ถามคำถามให้เป็น
แน่นอนครับว่าเราไม่สามารถทำความเข้าใจเนื้อหาทุกอย่างในห้องเรียนได้อยู่แล้ว ดังนั้นแล้วการรู้จักถามคำถามให้เป็นก็จะช่วยให้เราเข้าใจบทเรียนได้มากขึ้นอย่างมากเลยทีเดียวครับ
คำถามที่เราควรถามก็ต้องเป็นคำถามที่จะช่วยตอบประเด็นสำคัญของเนื้อหาให้ได้ว่า ใคร? ทำอะไร? ดำเนินการด้วยวิธีการไหน? ได้ผลลัพธ์อย่างไร? แล้วถ้าเราได้คำตอบของประเด็นสำคัญแล้ว เราก็อาจจะถามรายละเอียดปลีกย่อยต่อไปทีหลังก็ได้
3. ไม่ต้องทบทวนมาก แต่ทบทวนให้เร็วที่สุด
จากทฤษฎีเรื่องเส้นโค้งของการหลงลืม (Forgetting Curve) ของ แฮร์มัน เอ็บบิงเฮาส์ (Hermann Ebbinghaus) จะเห็นได้ว่ายิ่งเราปล่อยให้เวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งลืมเนื้อหาบทเรียนที่เราเรียนไปมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นแล้ว เมื่อมีเวลาหลังจากเรียนจบ เราควรจะใช้เวลาทบทวนสักเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องทบทวนมากหรอกครับ อาจจะแค่ทบทวนประเด็นสำคัญก็ได้ เพราะเมื่อเราทบทวนเร็ว เราก็ยังคงจำเนื้อหาส่วนใหญ่ได้อยู่ ไม่ต้องเสียเวลามารื้อฟื้นความทรงจำมากนั่นเองครับ

4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ในขณะที่เรานอนหลับ สมองของเราจะมีกระบวนการจัดระเบียบความทรงจำ รวมทั้งมีการสร้างและเชื่อมเซลล์ประสาทใหม่เพื่อรองรับการจดจำข้อมูล ดังนั้นแล้ว การนอนหลับพักผ่อนอย่างมีคุณภาพและเพียงพอจะช่วยทำให้สมองของเราสดชื่น แจ่มใส เรียนรู้ได้เร็วและทำความเข้าใจเนื้อหาบทเรียนได้ง่ายครับ แต่ถ้าหากเรานอนไม่เพียงพอ สมองของเราก็จะทำงานได้ไม่ดี มิหนำซ้ำ ยังเป็นการทำลายเซลล์ประสาทบางส่วนเสียอีก ต่อให้เราพยายามจดจำหรือเรียนรู้เนื้อหาบทเรียนมากแค่ไหน สุดท้ายเราก็แทบจะจำอะไรไม่ได้เลยครับ
5. ทำคะแนนเก็บให้ดี
ในระดับมัธยมศึกษา อัตราส่วนของคะแนนเก็บจะอยู่ที่ประมาณ 50% หรือ 60% นอกจากนั้นเป็นส่วนของคะแนนสอบกลางภาคและสอบปลายภาค ดังนั้นถ้าเราตั้งใจทำคะแนนเก็บ ไม่ว่าจะเป็น การบ้าน คะแนนสมุด คะแนนการเข้าเรียน คะแนนจิตพิสัย ถ้าเราทำได้ดี ตอนสอบถึงทำคะแนนได้น้อยก็จะไม่น่าเป็นห่วงครับ สมมติคะแนนเก็บอยู่ที่ 50 คะแนน เราทำได้ 40 คะแนน ส่วนตอนสอบรวมกลางภาคและปลายภาคเราทำได้แค่ 25 คะแนน (จาก 50 คะแนน) รวมกันแล้วก็ 65/100 นั่นหมายความว่าเราได้เกรด 2.5 มาง่ายๆ เลย และถ้าเรารู้เทคนิคการเรียนเก่งสำหรับคนขี้เกียจด้วยแล้ว ผมมั่นใจว่าเราจะทำทั้งคะแนนเก็บและคะแนนสอบได้มากกว่านี้แน่นอนครับ
6. จับกลุ่มกับเพื่อน ช่วยกันติว ช่วยกันทำงาน
การเรียนในระดับมัธยมนั้น เรายังสามารถพึ่งตนเองในการทำการบ้าน การติว ได้เป็นส่วนใหญ่ (ซึ่งจะไม่เหมือนกับการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย) บางคนจึงพยายามทำทุกอย่างด้วยตนเอง ทำให้ต้องใช้ความพยายามสูง แต่สำหรับคนขี้เกียจ (อย่างพวกเรา 555) เราไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นครับ เราสามารถจับกลุ่มกับเพื่อน ช่วยกันติว ช่วยกันทำงานได้ ทำให้เราเหนื่อยน้อยลง ใช้เวลาน้อยลง มีเวลาไปทำกิจกรรมอื่นที่เราสนใจทำได้ครับ
บางคนอาจคิดว่าถ้าเราไม่ได้ทำความเข้าใจด้วยตนเองแล้วเราจะเข้าใจเนื้อหาบทเรียนจริงๆ หรือ?... แน่นอนครับว่าถ้าเราไม่ได้ทำด้วยตัวเอง เราก็คงไม่เข้าใจอย่างท่องแท้ แต่การได้ฟังสรุปจากเพื่อนก่อนแล้วมาทบทวนด้วยตนเองทีหลัง จะทำให้เราใช้เวลาทำความเข้าใจเนื้อหาน้อยกว่าครับ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราต้องทำความเข้าใจเรื่องหนึ่งด้วยตนเอง จะต้องใช้เวลาทั้งหมด 1 ชั่วโมง แต่ถ้าเราติวกับเพื่อน เราอาจจะใช้เวลาฟังเพื่อนสรุป 20 นาที ให้พอจะเห็นภาพรวมและประเด็นสำคัญของเนื้อหาก่อน (ใคร? ทำอะไร? ดำเนินการด้วยวิธีการไหน? ได้ผลลัพธ์อย่างไร?) จากนั้นมาทบทวนด้วยตนเองอีก 20 นาที รวมกันแล้วเป็น 40 นาที ก็นับว่าเราใช้เวลาน้อยกว่าการทบทวนทั้งหมดด้วยตนเองอยู่ดีครับ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์นะครับ ถ้าใครสนใจอยากเรียนรู้เทคนิคเรียนเก่งแบบก้าวกระโดด ทั้งการเพิ่มความจำ เพิ่มความเข้าใจบทเรียน เทคนิคการอ่านหนังสือ เทคนิคการฟังบรรยาย รวมทั้งแนวทางในการเตรียมตัวสอบ ผมมีสอนที่ https://www.paulpawit.com/programs พวกเราสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้เลยครับ
สุดท้ายนี้ขอให้พวกเราทุกคนประสบความสำเร็จในการเรียน สวัสดีครับ...