top of page

เครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพสมอง เทคนิคพิชิตการเรียน

อัปเดตเมื่อ 6 ธ.ค. 2565

" ...

ถ้าวิธีการเรียนแบบเดิมมันไม่เวิร์ค... เราก็ต้องเปลี่ยนวิธี

... "


สวัสดีครับทุก ๆ คน ผมเชื่อมั่นว่าพวกเราหลาย ๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนและนักศึกษามักจะต้องปวดหัวกับการพยายามเรียนหรือทำความเข้าใจเรื่องใหม่ ๆ ใช่ไหมครับ... ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้นครับ ทำไมการเรียนถึงดึงเอาพลังสมองของเราไปมากขนาดนี้ เฮ้ออออ...

ในระหว่างช่วงเปลี่ยนภาคการศึกษา ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงกักตัวเนื่องจาก COVID-19 พอดี ทำให้ผมต้องกักตัว กลิ้งไปมาอยู่ในห้องเล็ก ๆ ของผม จะออกไปเที่ยวก็ไม่ได้ มันทำให้ผมเบื่อมาก และท้ายที่สุด ผมก็ตัดสินใจที่จะหาอะไรทำด้วยการเพิ่มความรู้ให้ตัวเองสักหน่อย ผมใช้เวลาคิดอยู่สักพักว่าจะเริ่มต้นเรียนเรื่องอะไรดี ผมก็ฉุกคิดได้ว่าผมมีปัญหาเรื่องการเรียนและการทำความเข้าใจเรื่องใหม่ ๆ ค่อนข้างมาก ทำไมไม่เริ่มต้นด้วยการหาวิธีเรียนที่มันเวิร์คกว่านี้ดูหล่ะ...?

ผมเปิดอินเตอร์เน็ต ค้นหาเทคนิคการเรียนต่าง ๆ ใน YouTube ในระหว่างที่กำลังหาดูวิดีโออยู่นั้นเอง ก็มีโฆษณาคอร์สออนไลน์ของ Coursera... ผมรู้จักกับเจ้า Coursera มานานมากแล้ว มันเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมคอร์สออนไลน์จากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ ทั่วโลกมาไว้ในเว็บไซต์นี้ ด้วยเหตุนี้เองทำให้ผมลองค้นหาคอร์สออนไลน์ที่สอนเกี่ยวกับเทคนิคการเรียน และมันทำให้ผมไปเจอคอร์สที่น่าสนใจมากคอร์สหนึ่ง "Learning How to Learn: Powerful mental tools to help you master tough subjects"

ผมใช้เวลาเรียนคอร์สนี้อยู่พักหนึ่งเนื่องจากเนื้อหาความยาวของคอร์สนี้ไม่นานนัก ผมได้เรียนรู้เหตุผลต่าง ๆ ว่าทำไมวิธีการเรียนแบบเดิมที่ผมเคยทำอยู่นั้นมันไม่เวิร์ค และวิธีการเรียนที่เหมาะสมนั้นควรทำอย่างไร ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนเองก็ใช้วิธีการเรียนที่ไม่ถูกต้อง ผมจึงมีความตั้งใจที่อยากจะแบ่งปันความรู้ที่ผมได้เรียนมาจากคอร์สนี้ให้ทุก ๆ คนได้รู้ครับ


 


เพื่อให้เข้าใจถึงหลักการมากขึ้น ผมขออธิบายพื้นฐาน โดยอ้างอิงจากหลักการทาง Cognitive science สักเล็กน้อย ดังต่อไปนี้ครับ


1. Fucused mode กับ Diffused mode

ผมขอเริ่มต้นด้วยเรื่องนี้ก่อน เราต้องเข้าใจก่อนว่ารูปแบบความคิดของมนุษย์เรานั้นแบ่งเป็น 2 แบบครับ คือ Focused mode และ Diffused mode โดย Focused mode เป็นรูปแบบคิดที่จะจดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นหลัก เช่น วิธีการ ๆ หนึ่ง สมการ ๆ หนึ่ง ซึ่งจะใช้สมองเป็นเฉพาะส่วน แต่ Diffused mode จะเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นเมื่อสมองของเราเกิดการผ่อนคลาย ทำให้ความคิดของเราวิ่งแล่นไปหลายส่วน เช่น เมื่อเราออกไปเดินเล่น หรือทำกิจกรรมสันทนาการต่างๆ โดยรูปแบบความคิดนี้จะช่วยให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ได้ดีและช่วยให้เราสามารถเชื่อมโยงความคิดต่างๆ ได้ง่ายขึ้นครับ อย่างไรก็ตามเวลาเราเรียนรู้นั้นสมองจะเข้าสู่รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น จะไม่สามารถเป็นทั้งสองรูปแบบได้ในเวลาเดียวกัน


2. Working memory กับ Long-term memory

ความทรงจำของคนเรานั้นแบ่งเป็น 2 แบบครับคือ Working memory กับ Long-term memory โดย Working memory จะเป็นความทรงจำที่เกิดขึ้นเมื่อเราพยายามเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ซึ่งจะยังไม่คงทนถาวร หากเราไม่ฝึกฝนให้เจ้า Working memory ด้วยการจดจำเรื่องที่เรากำลังเรียนอยู่อย่างเป็นประจำ ท้ายที่สุดเราก็อาจลืมไปได้ ส่วน Long-term memory จะเป็นความทรงจำแบบคงทนถาวร กระบวนการจดจำนี้จะเกิดขึ้นหลังจากกระบวนการของ Working memory


3. Chunking

Chunking เป็นการที่เซลล์ประสาทของเราเชื่อมประสานกับเซลล์ประสาทอื่น ๆ ให้มีความแข็งแรงมากขึ้น ทำให้เราเข้าใจเนื้อหานั้นได้อย่างลึกซึ้ง เจ้า Chunking นี้จะเกิดขึ้นในรูปแบบการเรียนรู้แบบ Fucused mode คือเมื่อเราพยายามตั้งใจจะทำความเข้าใจเรื่อง ๆ หนึ่งอย่างใจจดใจจ่อ บวกกับฝึกฝนจนเรื่องนั้นกลายเป็นความทรงจำแบบ Long-term memory


 

เอาหล่ะครับ หลังจากรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องแล้ว คราวนี้เรามาเริ่มกันเลยดีกว่าว่าเทคนิคอะไรบ้างที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนของเรา

1. อย่าหักโหมเรียนหรือเตรียมตัวสอบชั่วข้ามคืน

ผมมั่นใจว่าหลาย ๆ คนคงรู้เรื่องนี้กันเป็นอย่างดีว่าเราไม่ควรจะอ่านหนังสือ เตรียมตัวสอบในช่วงเวลาไม่กี่วันก่อนสอบ แต่ควรจะอ่านหนังสือ ฝึกฝนอยู่เป็นประจำ แต่ในความเป็นจริงนั้น หลาย ๆ คนก็ยังคงใช้เวลาไม่กี่วันก่อนสอบอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบกันจริงไหมครับ ผมเองก็เป็นแบบนั้น

อันที่จริงแล้วเรื่องนี้สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลทาง Cognitive science ครับ ผมขอเปรียบเทียบการเรียนเหมือนกับการก่ออิฐสร้างบ้าน เวลาที่เราพยายามจดจำเรื่อง ๆ หนึ่งนั้นเซลล์ประสาทของเราก็พยายามสร้าง Chunking คล้ายกับการที่เราพยายามก่ออิฐหลาย ๆ ก้อนและเชื่อมอิฐเหล่านั้นด้วยปูน ถ้าเรารีบก่ออิฐจำนวนมากทันทีเลยโดยที่ไม่รอให้ปูนแห้งก่อน โครงสร้างอิฐนี้ก็จะรับแรงไม่ไหว ท้ายที่สุดมันก็จะพังลงมา ดังนั้นเราจึงควรค่อย ๆ ก่ออิฐทีละเล็กทีละน้อยรอให้ปูนแห้งเป็นโครงสร้างที่แข็งแรงก่อน จากนั้นก็ค่อย ๆ ก่ออิฐให้สูงและใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ การ Chunking เองก็ต้องใช้ระยะเวลาการเชื่อมประสานกันของเซลล์ประสาททีละเล็กทีละน้อยเหมือนกันครับ


2. Process vs Product

เวลาที่เราต้องการอ่านหนังสือหรือทำงาน สิ่งที่เราคาดหวังก็คืออ่านหนังสือจบหรือทำงานเสร็จใช่ไหมครับ สิ่งพวกนี้เราเรียกว่า "Product" คือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น แต่ผลลัพธ์จะเกิดขึ้นได้ก็มาจากกระบวนการการลงมือทำ หรือ "Process" นั่นเองครับ

ด้วยความที่เราคาดหวังตัว Product นี่เอง เวลาที่เราอ่านหนังสือหรือทำงาน เรามักจะรู้สึกเหนื่อยล้าท้อ และหมดกำลังใจ เนื่องจากจะมีความคิดเกิดขึ้นในหัวของเราตลอดเวลาว่า "ฉันทำตั้งนานแล้ว ทำไมมันยังไม่เสร็จสักที" วิธีการที่จะทำให้เรามีกำลังใจก็คือเปลี่ยนมาโฟกัสที่ Process จดจ่ออยู่กับสิ่งที่เราต้องทำทีละเล็กทีละน้อย เช่น อ่านหนังสือย่อหน้านี้ จากนั้นก็ขยับไปทีละหนึ่งย่อหน้า หรือเขียนรายงาน ก็ให้เขียนทีละย่อหน้า โดยไม่ต้องสนใจว่าจะอ่านหนังสือหรือทำงานจบเมื่อไหร่ แค่ทำงานปัจจุบันของเราไปเรื่อย ๆ ครับ


3. เริ่มต้นด้วยเทคนิค Pomodoro

หนึ่งในศัตรูตัวฉกาจของการเรียนรวมทั้งการทำงานก็คือการพลัดวันประกันพรุ่ง การที่เราต้องทำในสิ่งที่น่าเบื่อหน่ายและปวดหัวทำให้เราไม่อยากที่จะทำมันหรือแม้แต่จะเริ่มต้นจริงไหมครับ เราสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยเทคนิค Pomodoro

เทคนิค Pomodoro คือการจับเวลาแค่ 25 นาที ลงมือเริ่มต้นทำโดยไม่ปล่อยให้มีสิ่งภายนอกมารบกวน เทคนิคนี้ช่วยให้เราโฟกัสตรง Process ได้ง่ายยิ่งขึ้น และหลังจากหมดเวลา 25 นาทีแล้ว เราก็สามารถพักผ่อน เปลี่ยนบรรยากาศได้


4. ทำสิ่งที่ยากที่สุดก่อน

ในภาษาอังกฤษ จะมีสำนวนหนึ่งกล่าวว่า "Eat the frogs first." ซึ่งหมายความว่าให้เราเริ่มต้นลงมือทำจากสิ่งที่เราคิดว่ายากและไม่อยากทำที่สุดก่อน

การเริ่มต้นจากสิ่งที่ยากนี้จะเป็นการทำให้สมองใช้รูปแบบความคิดแบบ Diffused mode เป็นการกระตุ้นให้สมองของเราคิดได้กว้างและรอบคอบ มันจะช่วยให้เราสามารถทำสิ่งที่ง่ายกว่าได้ง่ายยิ่งขึ้นและใช้เวลาคิดน้อยลงครับ


5. Interleaving

Interleaving เป็นเทคนิคที่แนะนำให้เราเปลี่ยนเนื้อหาการอ่านหรือการทำงานจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง อาจจะเปลี่ยนเนื้อหาหรือเนื้องานหลังจากหมด Pomodoro ก็ได้ เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ ลดความล้าจากเรื่องก่อนหน้า นอกจากนี้ยังช่วยให้เรามีความคิดที่กว้างขึ้น แถมอาจช่วยให้เราเข้าใจเรื่อง ๆ หนึ่งง่ายมากยิ่งขึ้นจากอีกเรื่องหนึ่ง (รูปแบบความคิดแบบ Diffused mode)


6. Anology & Metaphor

Anology & Metaphor เปรียบเสมือนการสร้างอุปมาอุปไมย เปรียบเทียบเนื้อหา ๆ หนึ่งกับเนื้อหาอื่น หาความคล้ายหรือความใกล้เคียงกัน หรืออาจจะเปรียบเทียบกับสิ่งของหรือเรื่องราวในชีวิตประจำวันของเราก็ได้ วิธีการนี้จะช่วยให้เราเชื่อมโยงความคิดและความรู้ของเราได้ง่ายยิ่งขึ้น และยังช่วยทำให้เซลล์สมองของเรา Chunking ได้ง่ายยิ่งขึ้นครับ


7. Recall

การเตือนความจำ หรือ Recall นั้น เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพอย่างมากในการ Chunking ของเซลล์ประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตือนความจำในเวลาที่เราพัก วิธีการเตือนความจำนี้ได้ผลดีกว่าการนั่งอ่านเรื่องเดิมซ้ำ ๆ มาก เราสามารถเตือนความจำได้ด้วยการนึกคิด แต่จะดีกว่ามากถ้าเราจดลงไปในกระดาษหรือพูดขึ้นมาครับ


8. ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ

ความเครียดและความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นจากการเรียนหรือการทำงานทำให้ร่างกายของเราสร้างสารที่เป็นพิษขึ้นภายในร่างกาย (Metabolic toxins) สารพิษนี้ก็ส่งผลร้ายเซลล์สมองของเราด้วย การออกกำลัง ทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายสามารถขับสารพิษเหล่านี้ไปได้ง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายผลิตสารสื่อประสาท (Acetylcholin, Dopamine, Serotonin) ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการเรียนรู้ ทำให้สมองของเราแจ่มใส พร้อมรับความรู้ใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้นครับ


9. Teamwork

การที่เราพยายามทำความเข้าใจเนื้อหาด้วยตัวคนเดียวนั้น หลาย ๆ ครั้งอาจทำให้เรายึดติดกับวิธีการหรือแนวคิดของตัวเราเองมากเกินไป ซึ่งบ้างครั้งมันอาจจะไม่ถูกต้องก็ได้ การปรึกษา ติวเนื้อหากับเพื่อนจะช่วยเป็นการแลกเปลี่ยนแนวความคิด ทำให้เราได้เห็นในมุมมองอื่น ๆ เป็นการเช็คว่าสิ่งที่เราคิดนั้นถูกต้องหรือไม่ นอกจากนี้ยังทำให้ความคิดของเรามีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นอีกด้วย แต่ทว่าก่อนจะไปปรึกษากับเพื่อน เราจำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวของเราเองให้ดีก่อนนะครับ เพราะไม่อย่างนั้นมันจะยิ่งทำให้เราสับสนมากขึ้นไปอีก

 

นอกเหนือจากนี้ในตัวคอร์สออนไลน์ยังมีอธิบายเพิ่มเติมจากที่ผมกล่าวมาอยู่อีก ถ้าใครสนใจ ผมได้ใส่ลิงค์เอาไว้ใต้บทความนี้แล้ว

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่พวกเราทุก ๆ คน ผมรับรองว่าถ้าเอาเทคนิคเหล่านี้ไปใช้ จะทำให้เราเรียนหรือทำงานได้ดียิ่งขึ้นอย่างแน่นอนครับ... โชคดีครับ




เครดิตภาพ:

theworldinwords, 2017, LEARNING HOW TO LEARN - [PART 1] - Focused and Diffuse Modes, steemit.


Chunk Like a Champion, 2014, Needy Neurons


Rajesh Dawadi, 2015, Focused and Diffused mode



ลิงค์คอร์สออนไลน์:

Learning How to Learn: Powerful mental tools to help you master tough subjects

ดู 98 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page