แชร์ประสบการณ์เทคนิคการอ่านหนังสือและการทำสรุปเพื่อเตรียมตัวสอบด้วย Mind Map
อัปเดตเมื่อ 19 มี.ค. 2565
สวัสดีครับทุก ๆ คน ผมเชื่อว่าการสอบเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้นักเรียนนักศึกษาหลาย ๆ คนเครียดและกังวลมาก เพราะเราต้องอ่านหนังสือเยอะกับฝึกทำโจทย์เยอะมากเพื่อเตรียมตัวสอบ แต่เวลาเตรียมตัวสอบนั้นกลับไม่ได้มากมายเท่าไหร่นัก
สมัยที่ผมเรียนนั้น ผมจะเห็นเพื่อน ๆ ของผมหลาย ๆ คน จะทำสรุปเนื้อหาบนกระดาษ A4 ถ้าวิชาไหนเนื้อหามากจำนวนหน้ากระดาษก็จะมาก ถ้าวิชาไหนเนื้อหาน้อยก็จะมีจำนวนหน้ากระดาษน้อยหน่อย ซึ่งเนื้อหาที่เพื่อน ๆ ของผมจดนั้นก็จะเต็มไปด้วยตัวอักษรจำนวนมหาศาลที่ส่วนตัวผมดูแล้วก็ยังไม่ค่อยอยากจะอ่านเท่าไหร่ ฮ้าฮ้าฮ้า ผมมั่นใจว่าหลาย ๆ คนน่าจะเข้าใจที่ผมพูดดี หรือบางคนก็อาจทำแบบนี้อยู่จริงไหมครับ... อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้จะบอกว่าวิธีการนี้ไม่ดีหรือไม่มีประสิทธิภาพนะครับ ถ้าจะให้ผมวิเคราะห์เป็นการส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าข้อดีของการสรุปเนื้อหาแบบนี้ก็คือช่วยประหยัดพลังงานความคิดของเราไปได้ในช่วงที่เราพยายามทำความเข้าใจเนื้อหา คือเราอ่านไปสรุปไป และอีกอย่างหนึ่งก็คือทำให้เพื่อนที่หยิบเอาสรุปของเราไปอ่านนั้นเข้าใจแนวคิดของเราได้ง่ายครับ แต่ตัวผมเองนั้นไม่ได้ใช้วิธีการนี้
ผมชอบแนวคิดเรื่องการใช้ Mind Map ที่วาดเป็นแผนผังความคิดและเชื่อมโยงความคิดมากกว่า ข้อดีของการใช้วิธีนี้ก็คือทำให้เราเห็นการรวมและการเชื่อมโยงของเนื้อหาได้ดีกว่า แต่ข้อเสียของมันก็คือเราต้องใช้เวลาทำความเข้าใจเนื้อหาอย่างมากถึงจะสรุปและเชื่อมโยงออกมาในแผนผังเดียวได้ บวกกับถ้าเพื่อนหยิบ Mind Map ของเราไปอ่านแล้วละก็ ผมรับรองได้เลยว่าเพื่อนต้องงงอย่างแน่นอนครับ ฮ้าฮ้าฮ้า
เอาหล่ะครับ เรามาเข้าเรื่องกันดีกว่า อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่าผมชอบวิธีการทำ Mind Map เป็นการส่วนตัวมากกว่า เพราะฉะนั้นแล้วผมก็จะพูดถึงวิธีการทำสรุปโดยใช้ Mind Map ในสไตล์ของผมเอง โดยวิธีการของผมนั้นจะแบ่งเป็น 4 ช่วงได้แก่ การอ่านแบบสกิม การอ่านแบบสแกน การทำสรุปด้วย Mind Map และสุดท้ายก็คือ การทบทวนสิ่งที่เราสรุปมา

เนื่องจากการทำ Mind Map เป็นวิธีที่เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจเนื้อหาก่อนก่อนที่จะมาสรุปเป็นตัว Mind Map ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นด้วยการอ่าน ผมแบ่งการอ่านเนื้อหาเป็น 2 ช่วงครับ ซึ่งก็คือ การอ่านแบบสกิม และ การอ่านแบบสแกน
1. การอ่านแบบสกิม (Skimming)
การอ่านแบบสกิมเป็นการอ่านโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เห็นภาพรวมของเนื้อหาทั้งหมดแบบคร่าว ๆ ไม่เจาะลึก ช่วยให้เราเชื่อมโยงเนื้อหาได้ง่ายยิ่งขึ้นครับ และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือก่อนที่จะเริ่มอ่าน ผมจะเปิดไปดูที่สารบัญก่อนเพื่อดูว่าเรื่องที่ผมจะอ่านนั้นมีหัวข้ออะไรบ้าง จากนั้นก็ไปอ่านคำนำ (หรือบทนำ) แล้วก็ข้ามไปที่บทสรุป (มักจะอยู่ท้ายบท) จากนั้นจึงค่อยเริ่มอ่านตัวอักษรแรกของบท ทั้งหมดนี้ก็เพื่อช่วยทำให้ผมเห็นภาพรวม ที่มาที่ไปของเนื้อหาได้ง่ายยิ่งขึ้นครับ แต่ย้ำอีกครั้งนะครับว่านี่เป็นการอ่านแบบคร่าว ๆ ไม่ลงรายละเอียด
2. การอ่านแบบสแกน (Scanning)
หลังจากที่อ่านแบบสกิมเพื่อให้เห็นภาพรวมของเนื้อหาเสร็จแล้ว ขั้นต่อไปผมก็ลงรายละเอียดในเนื้อหามากขึ้น ผมจะกลับมาเริ่มที่ตัวอักษรแรกอีกครั้ง คราวนี้ผมจะอ่านและพยายามทำความเข้าใจแต่ละย่อหน้าว่าผู้เขียนต้องการจะบอกอะไรในย่อหน้านั้น ซึ่งโดยปกติแล้ว ในหนึ่งย่อหน้าจะมีใจความสำคัญที่ผู้เขียนต้องการจะบอกอยู่เพียงแค่หนึ่งประเด็นเท่านั้น (แต่อาจจะมากกว่าหนึ่งประโยคก็ได้) เราต้องหาให้ได้ว่าประเด็นนั้นคืออะไร (อาจจะใช้เทคนิคจับใจความว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ได้ผลลัพธ์อย่างไร ก็ได้ครับ) และใช้การไฮไลท์หรือขีดเส้นใต้ช่วยเพื่อให้ง่ายต่อการจับประเด็น นอกจากนี้ยังช่วยให้ทำขั้นตอนต่อ ๆ ไปง่ายยิ่งขึ้นครับ
เมื่อทำขั้นตอนการอ่านแบบสแกนเสร็จเรียบร้อยแล้วก็เตรียมตัวเข้าสู่ขั้นตอนถัดไป แต่ก่อนจะไปสู่ขั้นตอนต่อไปนั้น ผมมักจะพักผ่อนสมองสักครู่ก่อน เนื่องจากผมมักจะล้าจากการพยายามใช้ความคิดเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาจากขั้นตอนที่ 2 นี้ เมื่อรู้สึกว่าตัวเองกลับมาสดชื่นขึ้นอีกครั้งก็ไปลุยต่อ แต่ก่อนอื่นเราต้องเตรียมกระดาษและปากกาเพื่อทำ Mind Map ก่อน
ถึงแม้ว่าเราจะสามารถจดสรุปบนไอแพดหรือแทปเล็ตได้ก็ตาม แต่ผมแนะนำว่าให้ใช้กระดาษครับเป็นกระดาษ A4 หรือ A3 ก็ได้ เพราะข้อดีของการใช้กระดาษก็คือเราสามารถเปิดอ่านพร้อม ๆ กันหลาย ๆ หน้าได้หรือเอามาต่อกันเป็นแผ่นเดียวใหญ่ ๆ ได้ ทำให้เราเห็นภาพรวมและเชื่อมโยงเนื้อหาได้ดีกว่า แต่ไอแพดหรือแทปเล็ตสามารถเปิดได้ทีละหน้าเท่านั้น บวกกับขนาดหน้าจอยังค่อนข้างเล็ก ทำให้อ่านยากกว่าอีกด้วย นอกเหนือจากนี้ผมแนะนำจดสรุปในแนวนอนของกระดาษ เพราะดวงตาของเราเรียงตัวในแนวนอน การจัดวางกระดาษแนวนอนจะทำให้เรามองเห็นได้ครอบคลุมเนื้อกระดาษมากกว่าการจัดวางในแนวตั้ง และควรใช้ปากกาแต่ละสีในการจดอย่างมีกฎเกณฑ์ครับ*
เอาหล่ะ เมื่อกระดาษและปากกาพร้อมแล้วเราก็มาเริ่มทำ Mind Map กันเลย
3. การทำสรุปด้วย Mind Map
โดยปกตินั้นเราจะเริ่มทำ Mind Map จากตรงกลางของกระดาษใช่ไหมครับ แต่ผมไม่ได้ทำแบบนั้น ผมได้ไอเดียการทำ Mind Map มาจากสถาบันกวดวิชาสถาบันหนึ่งผสมกับสไตล์ของผมเอง ผมจะเริ่มจากด้านบนของกระดาษโดยเว้นพื้นที่ด้านซ้ายเอาไว้สักประมาณ 1 นิ้ว เพื่อใช้ลากเส้นเชื่อมโยงในแนวดิ่ง และถ้าเราไม่สามารถสรุป Mind Map ได้ภายในหนึ่งหน้า กระดาษ A4 หรือ A3 จริง ๆ เราสามารถขึ้นแผ่นใหม่ แล้วเอาแผ่นใหม่นั้นมาต่อกับแผ่นก่อนหน้าได้ครับ (ติดด้วยเทปใส)
เริ่มต้นด้วยการเขียนหัวเรื่องหลักก่อน แล้วค่อยกระจายเป็นหัวเรื่องย่อย (ผมแนะนำให้ทั้งหัวเรื่องหลักและหัวเรื่องรองตรงกับสารบัญในหนังสือครับ) จากนั้นให้เขียนเนื้อหาที่เราได้เน้นหรือขีดเส้นใต้จากในหนังสือเอาไว้ลงไปใน Mind Map ของเราตามหัวข้อนั้น ๆ เมื่อจบหัวข้อหนึ่ง ให้เว้นพื้นที่ด้านล่างประมาณ 3/4 นิ้ว แล้วจึงค่อยขึ้นหัวข้อใหม่ครับ ทำแบบนี้จนครบทุกหัวข้อแล้วค่อยลากเส้นเชื่อมโยงความคิดว่าหัวข้อหลักสัมพันธ์กับหัวข้อย่อยไหนบ้าง และหัวข้อย่อยไหนสัมพันธ์กับหัวข้อย่อยไหนบ้าง
เพื่อน ๆ สามารถดูตัวอย่าง Mind Map จากไฟล์ที่ผมแนบไว้นี้ได้นะครับ เป็นสรุปของผมในสมัยที่ผมเรียนวิชาการคิดเชิงระบบและการคิดเชิงสร้างสรรค์ในระดับปริญญาตรี (หลักเกณฑ์การใช้สีอาจจะยังไม่ดีสักเท่าไหร่เมื่อตอนนั้น ฮ้าฮ้า)
4. การทบทวนสิ่งที่เราสรุปมา
หลังจากที่เราทำสรุปใน Mind Map เสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น ขั้นสุดท้ายก็คือการทบทวนสิ่งที่เราทำมาทั้งหมดอีกทีหนึ่ง แต่ส่วนตัวผมนั้น ผมจะไม่เริ่มทำขั้นตอนนี้หลังจากจบขั้นตอนการทำ Mind Map ก่อนหน้านี้ทันทีเลย ผมจะไปพักสมองก่อนสักครู่ แล้วจึงค่อยปิดท้ายด้วยขั้นตอนนี้
เวลาที่ผมจะทบทวนนั้น ผมจะกลับไปอ่านแบบสกิมในหนังสือแล้วดูเฉพาะที่เราเน้นเอาไว้อีกครั้ง จากนั้นจึงมาอ่านใน Mind Map ของตัวเองอย่างละเอียดอีกทีหนึ่งเป็นการปิดท้าย
อย่างไรก็ตามในบางครั้งที่ผมต้องการจะเซฟเวลาของตัวเอง ผมก็จะข้ามขั้นตอนที่ 4 นี้ไปครับ จะจบเพียงแค่ขั้นตอนที่ 3 เท่านั้น
และนี่คือ 4 ขั้นตอนที่ผมใช้ในการอ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวสอบ อย่างไรก็ตามในการทำ Mind Map ถ้าเน้นเป็นรูปภาพได้ก็จะยิ่งช่วยให้เราเข้าใจง่ายขึ้นกว่าการที่มีเพียงข้อความอีกครับ ผมหวังว่าแนวทางของผมจะเป็นประโยชน์กับทุก ๆ คนนะครับ ขอให้ทุกคนโชคดี... สวัสดีครับ
* การเขียนสรุป Mind Map ควรมีการกำหนดกฎเกณฑ์ของการใช้ปากกาสีต่าง ๆ และแนะนำว่าไม่ควรใช้ปากกาเกิน 3 สี (หรืออาจจะใช้หลายสีก็ได้ครับ แต่ควรกำหนดกฎเกณฑ์ของสีต่าง ๆ ไม่ควรใช้มั่วซั่ว) ส่วนตัวผมเองนั้นจะใช้ 4 สี โดยแบ่งความหมายของแต่ละสีดังต่อไปนี้ครับ
- สีดำ ใช้กับ เนื้อความที่มีความสำคัญทั่ว ๆ ไป
- สีน้ำเงิน ใช้กับ เนื้อความเสริม
- สีแดง ใช้กับ เนื้อความที่มีความสำคัญมาก หรือบางครั้งผมก็ใช้สีแดงขีดเส้นใต้ เพื่อเน้นว่าสำคัญมาก
- สีเขียว ใช้กับ ชื่อคน เวลา สถานที่ หรือกับบางสมการที่เป็นสมการย่อย
หรือเนื้อหาที่มีความสำคัญน้อย