top of page

7 วิธีลัดเรียนเก่ง เกรดดี คะแนนพุ่ง แบบชิลล์ๆ สำหรับเด็กมหาลัย

อัปเดตเมื่อ 9 พ.ย. 2565

สวัสดีครับ... ผมเข้าใจดีว่าชีวิตการเป็นนักศึกษานั้นมีกิจกรรมต่างๆ มากมายให้ที่เราอยากทำ ทั้งในเรื่องของการเรียน การเที่ยว การกิน การสังสรรค์ และการใช้ชีวิต ทั้งๆ ที่เรามีเรื่องมากมายที่เราอยากทำแต่เราก็ต้องทุ่มเทแรงและเวลาส่วนใหญ่ไปกับการเรียน การทบทวนหนังสือ การทำรายงาน การทำโปรเจ็ค และการเตรียมตัวสอบ ทำให้เราแทบจะไม่มีเวลาทำกิจกรรมอย่างอื่นเลย เพราะฉะนั้นแล้ว ในบทความนี้ผมมีเทคนิคในการเรียน การทำรายงาน และการเตรียมตัวสอบมาฝากพวกเราทุกคนครับ ว่าจะทำอย่างไรให้ใช้เวลากับกิจกรรมเหล่านี้น้อยลง แต่สามารถเข้าใจเนื้อหาบทเรียนได้ดีมากขึ้น ทำรายงานและโปรเจ็คได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มคะแนนในการสอบด้วยครับ

 


1. จับประเด็นสำคัญให้ได้

เวลาอยู่ในห้องเรียน เราไม่จำเป็นต้องพยายามทำความเข้าใจทุกอย่างที่อาจารย์สอนก็ได้ครับ เพราะเนื้อหาที่อาจารย์สอนมีทั้งเนื้อหาที่เป็นแก่นสำคัญและเนื้อหาที่เป็นส่วนเสริม ประกอบกับสมองของเรามีพลังงานจำกัด ดังนั้นแล้วเราไม่ควรจะใช้พลังงานสมองของเราไปกับเนื้อหาทุกส่วน แล้วประเด็นสำคัญอะไรบ้างที่เราควรเลือกฟัง...?

ไม่ว่าจะตอนฟังที่อาจารย์สอนหรือตอนอ่านหนังสือ เราต้องจับประเด็นเนื้อหาให้ได้ว่า ใคร? ทำอะไร? ดำเนินการด้วยวิธีการไหน? ได้ผลลัพธ์อย่างไร? เมื่อเราสามารถจับประเด็นเหล่านี้ได้แล้ว การทำความเข้าใจรายละเอียดปลีกย่อยหรือเวลาที่เราจะกลับไปทบทวนเนื้อหาด้วยตนเองก็จะง่ายมากยิ่งขึ้นครับ นอกจากนี้สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย ผมแนะนำให้พวกเราฟังเพิ่มอีกสองสิ่งนั่นก็คือ มันจะสามารถนำไปต่อยอดได้อย่างไร? และ เราจะหาแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมได้จากที่ไหน? ด้วยครับ เพราะในชีวิตมหาวิทยาลัย พวกเราต้องทำรายงานและโครงการต่างๆ ค่อนข้างมาก การที่เรารู้ว่าเรื่องต่างๆ สามารถนำไปต่อยอดอย่างไรได้บ้างและจะมีแหล่งข้อมูลอ้างอิงไหนบ้างที่เป็นประโยชน์กับเรา ก็จะช่วยเราได้มากครับ

ผมขอยกตัวอย่างการจับประเด็นสำคัญจากคอร์สอัพเกรดสมอง เพิ่มความเข้าใจบทเรียน ที่ผมสอนเพื่อให้พวกเราเข้าใจมากยิ่งขึ้นครับ เป็นการจับประเด็นสำคัญของเรื่อง "การสังเคราะห์ด้วยแสง" ครับ


สามารถวิเคราะห์ประเด็นสำคัญได้ดังนี้ครับ


2. ถามคำถามให้เป็น

แน่นอนครับว่าเราไม่สามารถทำความเข้าใจเนื้อหาทุกอย่างในห้องเรียนได้อยู่แล้ว ดังนั้นแล้วการรู้จักถามคำถามให้เป็นก็จะช่วยให้เราเข้าใจบทเรียนได้มากขึ้นอย่างมากเลยทีเดียวครับ

คำถามที่เราควรถามก็ต้องเป็นคำถามที่จะช่วยตอบประเด็นสำคัญของเนื้อหาให้ได้ว่า ใคร? ทำอะไร? ดำเนินการด้วยวิธีการไหน? ได้ผลลัพธ์อย่างไร? และนอกจากนี้เราอาจถามถึงการนำไปต่อยอดในอนาคตและแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมด้วยครับ เพราะข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับเราในภายหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการทำรายงานและการทำวิทยานิพนธ์


3. ทบทวนให้เร็วที่สุด

จากทฤษฎีเรื่องเส้นโค้งของการหลงลืม (Forgetting Curve) ของ แฮร์มัน เอ็บบิงเฮาส์ (Hermann Ebbinghaus) จะเห็นได้ว่า ยิ่งเราปล่อยให้เวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งลืมเนื้อหาบทเรียนที่เราเรียนไปมากขึ้นเท่านั้น เมื่อผ่านไป 1 ชั่วโมง สิ่งที่เราจดจำได้จะเหลือเพียงประมาณ 40% และเมื่อผ่านไป 1 วัน สิ่งที่เราจำได้จะเหลือเพียงประมาณ 30% เท่านั้น ดังนั้นแล้ว เมื่อมีเวลาหลังจากเรียนจบ เราควรจะใช้เวลาทบทวนสักเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องทบทวนมากหรอกครับ อาจจะแค่ทบทวนประเด็นสำคัญก็ได้ เพราะเมื่อเราทบทวนเร็ว เราก็ยังคงจำเนื้อหาส่วนใหญ่ได้อยู่ ไม่ต้องเสียเวลามารื้อฟื้นความทรงจำมากนั่นเองครับ


4. เรียนรู้และทำงานเป็นทีม

ชีวิตการเรียนในมหาลัยนั้นเต็มไปด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่เราไม่สามารถทำคนเดียวได้ต่างจากชีวิตการเรียนในสมัยมัธยม ดังนั้นแล้วเพื่อนและการทำงานเป็นทีมจึงเป็นสิ่งสำคัญมากทั้งในเรื่องการเรียน การทำกิจกรรม รวมทั้งการสังสรรค์ด้วย เพราะฉะนั้นแล้ว เวลาที่เราจะทบทวนหนังสือหรือทำงานก็ให้ทำกันเป็นทีมครับ มีการแบ่งกันทำงาน แบ่งกันติวหนังสือ ซึ่งวิธีนี้จำทำให้เราเหนื่อยน้อยกว่าและก็ประหยัดเวลามากกว่าครับ เช่น ถ้าเราจะต้องสอบ 3 วิชา โดยที่ปกติเราต้องอ่านแต่ละวิชาด้วยตนเอง 3 ชั่วโมง รวมทั้งหมดคิดเป็น 9 ชั่วโมง แต่ถ้าเราจับกลุ่มกับเพื่อนแบ่งกันติว เราอาจจะใช้เวลาอ่านวิชาที่เรารับผิดชอบ 3 ชั่วโมง ใช้เวลาอธิบายเพื่อนคนอื่นในกลุ่ม 1 ชั่วโมง เรานั่งฟังเพื่อนคนอื่นอธิบายเนื้อหาวิชาอื่นวิชาละ 1 ชั่วโมง มี 2 วิชาก็คิดเป็น 2 ชั่วโมง จากนั้นเรากลับไปทบทวนวิชาที่ฟังเพื่อนด้วยตนเองอีกวิชาละ 1 ชั่วโมง (เพราะเราได้ฟังสรุปของวิชาอื่นจากเพื่อนของเราแล้ว ทำให้เราใช้เวลาทำความเข้าใจด้วยตนเองน้อยลง) รวมเป็นทบทวนด้วยตนเอง 2 ชั่วโมง ซึ่งคิดเป็นเวลาจากการแบ่งกันทบทวนทั้งหมด 8 ชั่วโมง น้อยกว่าการทบทวนด้วยตนเองคนเดียวทั้งหมด และยิ่งถ้าเรารู้เทคนิคเรียนเก่งอื่นๆ ในบทความนี้ด้วยแล้ว รับรองเลยว่า เราจะใช้เวลาน้อยกว่านี้แน่นอนครับ

5. เก็งข้อสอบให้ตรงจุด

ในหลายๆ วิชาเรียนในระดับมหาลัย สัดส่วนคะแนนจากการสอบคิดเป็น 80% จากคะแนนทั้งหมด ดังนั้นแล้วการทำคะแนนสอบให้ได้ดีๆ จึงสำคัญมากๆๆ และการเก็งข้อสอบให้แม่นก็เป็นสิ่งที่จะทำให้เราสามารถสอบได้นั่นเอง แล้วเราจะมีวิธีในการเก็งข้อสอบยังไงหล่ะ...?

ผมขอแนะนำอย่างแบบนี้ครับ ก่อนอื่นให้เราไปสอบถามแนวข้อสอบจากอาจารย์ผู้สอนหรือรุ่นพี่ของพวกเราก่อนครับ ถ้ารู้แนวข้อสอบจากอาจารย์หรือรุ่นพี่แล้วก็ง่ายเลยทีเดียวเพราะเรารู้แล้วว่าเราจะต้องเก็งข้อสอบเรื่องอะไรบ้าง

ในกรณีที่เราไม่รู้แนวข้อสอบจากอาจารย์หรือรุ่นพี่ ถ้าวิชาไหนมีข้อสอบเก่า ให้เราไปค้นข้อสอบ 3 ปีย้อนหลังมาดูแล้วเทียบกันว่าเรื่องไหนที่ออกซ้ำกัน 2-3 ปี เรื่องนั้นก็จะเป็นเรื่องที่มีแนวโน้มออกสอบมากที่สุดครับ ถ้าเรื่องไหนออกไม่ซ้ำกัน ก็ยังเดาไม่ได้ว่าจะออกสอบในปีนี้ไหม แต่ถ้าเรื่องไหนไม่ออกสอบเลย ก็ไม่จำเป็นต้องเก็งข้อสอบเรื่องนั้นครับ

ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ถ้าไม่รู้แนวข้อสอบจากอาจารย์ รุ่นพี่ และไม่มีข้อสอบเก่าเลย ให้เราลองเอาการบ้านและงานต่างๆ ที่อาจารย์มอบหมายให้เราทำมาทบทวนและเก็งข้อสอบครับ เพราะงานที่มอบหมายให้พวกเราทำโดยส่วนใหญ่แล้วนั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ อาจารย์จึงให้เราไปฝึกทำ ดังนั้นแล้ว เนื้อหาการบ้านและงานต่างๆ เหล่านี้ ก็มีแนวโน้มที่จะออกสอบสูงครับ

6. รู้จักเข้าหาอาจารย์

การรู้จักเข้าหาอาจารย์ผู้สอน นอกจากจะช่วยเรื่องบรรยากาศความเป็นกันเองในการเรียนการสอนแล้วนั้น ในหลายๆ โอกาส อาจารย์เขาก็จะแนะนำแนวทางทั้งในเรื่องของการเรียน การทำรายงาน โครงการต่างๆ วิทยานิพนธ์ รวมทั้งบอกแนวข้อสอบกับเราด้วยครับ ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากในชีวิตการเรียนของเรา เพราะฉะนั้นแล้ว เมื่อมีโอกาส พยายามเข้าหาและพูดคุยกับอาจารย์อย่างสุภาพ ถ่อมตน ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเรียนอย่างเดียวก็ได้ครับ เราสามารถพูดคุยได้ในเรื่องทั่วไป ร้านอาหารแนะนำ สถานที่ท่องเที่ยว กีฬา หรือ ดนตรี ทุกอย่างเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีที่จะช่วยทำให้เราเรียนและทำงานได้ง่ายขึ้นครับ


7. อย่าทบทวนรวดเดียว

หลายๆ คนมักจะทบทวนในช่วงก่อนการสอบ และพยายามทบทวนเนื้อหาปริมาณมากในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ เราอดนอน และแทบจะจำอะไรไม่ได้เลย

เราลองจินตนาการถึงการก่ออิฐดูครับ ถ้าเราก่ออิฐทีเดียวหลายชั้นเลยจะเป็นงอย่างไรครับ? อิฐก็จะล้มพังลงมาได้ง่ายจริงไหมครับ เพราะว่าปูนที่ฉาบเอาไว้ยังไม่แห้งสนิทดี แต่ถ้าเราค่อยๆ ก่ออิฐครั้งและไม่กี่แถว รอให้ปูนแห้ง แล้วค่อยก็ให้สูงขึ้นที่ละนิดไปเรื่อย อิฐก็จะมีความแข็งแรงจริงไหมครับ ทำนองเดียวกันกับการทำงานของสมองครับ สมองของเราเองก็จะใช้เวลาในการจัดระเบียบข้อมูลความทรงจำ มีการสร้างแขนงประสาทและเชื่อมต่อเซลล์ประสาท ดังนั้นแล้ว เราจึงไม่ควรทบทวนหนังสือรวดเดียว แต่ทบทวนทีละเล็กทีละน้อยอย่างสม่ำเสมอจะดีกว่าครับ และที่สำคัญ อย่าลืมนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอด้วย


 

ผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์นะครับ ถ้าใครสนใจอยากเรียนรู้เทคนิคเรียนเก่งแบบก้าวกระโดด ทั้งการเพิ่มความจำ เพิ่มความเข้าใจบทเรียน เทคนิคการอ่านหนังสือ เทคนิคการฟังบรรยาย รวมทั้งแนวทางในการเตรียมตัวสอบ ผมมีสอนที่ https://www.paulpawit.com/programs พวกเราสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้เลยครับ

สุดท้ายนี้ขอให้พวกเราทุกคนประสบความสำเร็จในการเรียน สวัสดีครับ...

ดู 1,698 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page