Present like CEO - เทคนิคการนำเสนอให้จับใจผู้ฟัง ของ Steve Jobs
อัปเดตเมื่อ 28 ส.ค. 2565
การสื่อสารเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในการทำงาน ไม่ว่าคุณจะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการพูด การนำเสนอ การบรรยาย การสอน ทั้งหมดนี้ล้วนต้องใช้ทักษะการสื่อสารทั้งสิ้น ต่อให้เราเก่งแค่ไหนก็ตาม ถ้าเราไม่สามารถสื่อสารให้ผู้ฟังเข้าใจได้ มันก็สูญเปล่า ดังนั้นแล้วทักษะการสื่อสารจึงจำเป็นอย่างยิ่งครับ และในบทความนี้ผมจะสรุปเทคนิคการสื่อสารระดับ CEO อย่าง Steve Jobs จากหนังสือ “เก่ง presentation อย่าง Steve Jobs” มาแบบสั้นๆ กระชับ ในแบบของผมให้พวกเราฟังกันครับ
1. สร้างสรรค์เรื่องราว
การสร้างเนื้อหาการนำเสนอให้เชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกันนั้นจะช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายมากกว่าการกล่าวเป็นหัวข้อๆ ไป
นอกจากนี้เรื่องราวการนำเสนอของเราควรมีตัวร้ายและตัวดีด้วย พวกเราเคยดูหนังกันใช่ไหมครับ ในหนังมักจะมีตัวร้ายกับตัวดี มันทำให้เรื่องสนุกและน่าตื่นเต้น เช่นกันครับ ในการนำเสนอของเราการใส่ตัวร้ายและตัวดีก็จะทำให้การนำเสนอของเราน่าสนใจและดึงดูดผู้ฟังได้มากขึ้น แล้วตัวร้ายกับฮีโร่คืออะไร?… มันก็คือปัญหาและวิธีแก้ปัญหานั่นเองครับ
2. ตอบคำถามที่สำคัญที่สุดให้ได้
เวลาที่มีคนเข้ามาฟังการบรรยายหรือการนำเสนอของเรา พวกมักจะมีคำถามหนึ่งอยู่ในใจเสมอก็คือ “ทำไมฉันต้องสนใจมันด้วย?” ดังนั้นแล้วในฐานะผู้นำเสนอ เราก็ต้องตอบคำถามนี้กับตัวเราเองให้ได้ก่อนครับว่าเนื้อหาการนำเสนอนี้มีความสำคัญอย่างไร ทำไมผู้ฟังต้องเสียแรง เสียเวลา เสียพลังสมอง มานั่งฟังเราด้วย ก่อนที่จะจัดทำการนำเสนอให้น่าสนใจและดึงดูดผู้ฟังครับ
3. สร้างแผนที่เส้นทาง
ลองจินตนาการดูนะครับว่าถ้าเราจะเดินทางไปที่ไหนสักที่หนึ่งแล้วเรามีแผนที่ ชีวิตจะง่ายขนาดไหน? ในการนำเสนอซึ่งการเป็นการเดินทางแห่งการเรียนรู้ก็เหมือนกันครับ ถ้าเรามีแผนที่ มันก็จะทำให้การทำความเข้าใจของผู้ฟังง่ายขึ้น ซึ่งเจ้าแผนที่เส้นทางของการนำเสนอก็คือเค้าโครงการนำเสนอหรือเค้าโครงการบรรยายนั่นเองครับ เป็นการบอกกับผู้ฟังว่า ในการนำเสนอครั้งนี้ เรา (ในฐานะผู้พูด) จะพูดเรื่องอะไรบ้าง เราควรจะบอกเค้าโครงการนำเสนอของเราก่อนเข้าสู่เนื้อหาการนำเสนอ มันจะช่วยจัดระเบียบกรอบความคิดของผู้ฟัง ทำให้เขาไม่สับสน และตามเนื้อหาที่เราพูดได้ง่ายขึ้นในขณะที่ฟังเราครับ
4. ทำให้เรียบง่าย
ในการนำเสนอที่เป็นไลด์ เนื้อหาในสไลด์ไม่ควรมีมากจนเกินไป เพราะมันจะทำให้ผู้ฟังสับสนได้ง่าย พยายามทำสไลด์ให้มีเนื้อความน้อย ใช้ภาพแทน ทำให้ไลด์มีพื้นที่ว่างให้มากจะเป็นการดี
5. ใช้คำศัพท์ที่เข้าใจง่าย
จำไว้นะครับว่าจุดประสงค์ของการสื่อสารคือการทำให้ผู้ฟังเข้า ไม่ใช่การอวดว่าคุณ (ในฐานะผู้นำเสนอ) เก่งหรือมีความรู้มากแค่ไหน ดังนั้นแล้วให้พยายามเลือกใช้คำให้ง่ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เลี่ยงเลี่ยงการใช้ศัพท์ยาก หรือศัพท์เฉพาะกลุ่มครับ
6. สร้างประสบการณ์ให้ผู้ฟัง
การบรรยายโดยทั่วไปมักจะน่าเบื่อ แต่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ผู้ฟังใจจดใจจ่ออยู่กับคุณและอยากฟังคุณมากขึ้นอีก นั่นก็คือ คุณสร้างประสบการณ์ให้กับพวกเขาได้มากแค่ไหน?
ประสบการณ์ต่างๆ เช่นอารมณ์ร่วม, การมีปฏิสัมพันธ์ อย่างการได้ทดลอง หยิบจับ, การใช้สื่อและเครื่องมือที่หลากหลาย เช่น การมีวิดีโอ สไลด์ การสาธิตการทำงานจริง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างประสบการณ์ให้แก่ผู้ฟังได้
7. ใช้ภาษากาย
ภาษากายยังเป็นการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่งนอกเหนือจากคำพูด การใช้ภาษากายอย่างเปิดเผยนอกจากจะช่วยลดความตรึงเครียดของผู้พูดลงแล้วยังเป็นการแสดงความเปิดเผยอย่างเป็นมิตรกับผู้ฟังด้วย
8. สนุกและเร้าใจ
หาจังหวะที่จะทำให้การนำเสนอของคุณสนุกและเร้าใจ มีการเล่นศัพท์แสงบ้างอย่างคำว่า เจ๋ง! เยี่ยม! เพื่อกระตุ้นอารมณ์ของผู้ฟัง และอย่าลืมความสนุก หลายครั้งที่การนำเสนออาจไม่ได้เป็นดังที่หวัง แต่อย่าได้ซีเรียสกับมันมากนัก ความสนุกจะสร้างเป็นตัวสร้างประสบการณ์และความประทับใจที่ดีแก่ผู้ฟังของคุณครับ
ที่จริงแล้วยังมีอีกหลายเคล็ดลับและเทคนิคที่น่าสนใจกล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ ถ้าพวกเราสนใจสามารถหาซื้ออ่านได้เลยครับ ผมแนะนำอย่างยิ่ง